14 September 2014

[Review] MYO Alpha - Gesture Control Armband สุดเจ๋งจาก Thalmic Labs

Updated on

        ในที่สุดก็ได้ทำบทความรีวิวเจ้าของเล่นตัวนี้ซักที ถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านติดตามบทความอยู่ประจำก็คงจะเห็นบทความที่เจ้าของบล็อกได้เขียนถึงข่าวคราวเจ้าของเล่นตัวนี้กันแล้ว [News] MYO - Gesture Control Armband


        และแล้วก็ถึงวันที่ได้มาเล่นกันเสียที ก็เลยไม่ขอเสียโอกาส จับทำบทความรีวิวซะเลย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่หลงเข้ามาอ่านที่สนใจ

        แต่ทว่า MYO ตัวนี้ไม่ใช่ของเจ้าของบล็อกนะ เพราะว่ารุ่นนี้จะยังคงเป็นตัว Developer Kit (ตัวนี้เป็นรุ่นแรกสุด เรียกว่า MYO Alpha) เพื่อให้นักพัฒนานำไปทดสอบและพัฒนาให้ใช้งานกับงานต่างๆได้ ซึ่งเจ้าของบล็อกได้สมัครไปแต่ทว่าไม่ได้ถูกเลือก จึงจำใจต้องรอซื้อตัวที่วางจำหน่ายจริงๆในภายหลัง (แต่ก็เลื่อนมาหลายเดือนละ ยังไม่วางขายซักที)

        แต่ที่ได้มาเล่นนี้เป็นของคุณ Yati Dumrongsukit ที่ได้รับเลือกให้ได้ลอง Developer Kit ตัวนี้ (สามารถติดตามเรื่องราวของชายหนุ่มคนนี้ได้ที่ Ctrlyati)

        ในบทความนี้ก็จะไม่ Intro ให้ฟังแล้วนะว่ามันคืออะไร ทำอะไร เพื่ออะไร เพราะว่าอธิบายในบทความเก่าไปแล้ว โปรดตามไปอ่านกันเองนะครับ



        สำหรับตัวกล่องจะไม่มีอะไรมากนักเพราะยังเป็นรุ่น Alpha อยู่ (ตัวล่าสุดกล่องสวยกว่านี้มาก)





        เมื่อเปิดกล่องขึ้นมาก็จะเจอ MYO นอนอยู่ในโฟมสีดำและกล่องสีฟ้าๆสำหรับใส่ Accessory



        ขอพูดถึง Accessory ก่อนเป็นอย่างแรก เพราะถ้าพูดถึง MYO แล้วจะยาวเกินจนลืม Accessory ไป โดยในกล่องสีฟ้าๆนี้จะมีสติ๊กเกอร์แปะอยู่ข้างกล่องเลยนะว่า Made in China



        ข้างในก็จะมีสาย Micro USB กับ Bluetooth Dongle ที่เป็น Bluetooth 4.0 เพราะว่า MYO นั้นใช้ Bluetooth Low Energy ที่เป็นของ Bluetooth 4.0 ดังนั้นจึงมีการแถม Bluetooth Dongle มาให้เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มี Bluetooth 4.0




        มาพูดถึงเจ้าตัว MYO กันต่อ ด้านหน้าจะมีโลโก้ MYO กับไฟแสดงสถานะการทำงาน และถ้าลองมองดีๆจะเห็นรูที่เอาไว้ Manual Reset



        ด้านล่างก็จะเห็นช่อง Micro USB ที่เอาไว้เสียบต่อกับคอมพิวเตอร์หรือชาร์จ แล้วก็จะเห็นคำว่า Alpha อยู่ด้วย



         ส่วนข้างในจะเป็น Contact เพื่อให้ Sensor สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งใช้หลักการที่เรียกว่า Electromyography ซึ่งเป็นการวัดไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อ เพราะว่าเวลาที่กล้ามเนื้อมีการขยับหรือเคลื่อนไหว ก็จะเกิดจากการที่สมองสั่งงานผ่านเส้นประสาทเพื่อให้กล้ามเนื้อขยับตามต้องการ ซึ่งตรงนี้ก็คือเป็นสัญญาณไฟฟ้านั่นเอง

        จึงทำให้สามารถตรวจจับคลื่นสัญญาณดังกล่าวได้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งเดิมทีเป็นวิธีที่นิยมใช้ในทางการแพทย์เพื่อวิเคราะห์โรคภัยไข้เจ็บ แต่ในปัจจุบันเรื่องของ Wearable Device ก็ได้เริ่มเข้ามามากขึ้น Sensor ตรวจับร่างกายต่างๆก็หาได้สะดวกขึ้น อย่าง Sensor ที่ใช้ในการตรวจจับการทำงานของกล้ามเนื้่อที่ว่านี้เรียกว่า Muscle Sensor (มีขายนะเออสำหรับชาวไมโครคอนโทรลเลอร์)


        โดย MYO ได้มี Sensor ดังกล่าวอยู่บริเวณรอบๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะสวมใส่กลับด้านหรือกลับหัวยังไงก็ตาม (ต้องยกย่องความเทพของทีมพัฒนาแบบสุดๆ)




        เวลาสอดใส่ เอ้ย! สวมใส่ก็ให้อยู่บริเวณช่วงแขนก่อนจะถึงข้อศอก เพราะเป็นบริเวณที่ตรวจจับสัญญาณได้ง่าย



        สำหรับผู้ที่หลงเข้ามาอ่านที่แขนใหญ่กว่าเจ้าของบล็อกก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะว่าเจ้า MYO นั้นสามารถยืดออกได้ (มียางวงใหญ่ๆสองเส้นอยู่ข้างใน) เพราะงั้นมันจึงยึดได้เยอะมากพอสมควร แต่ข้อเสียก็คงเป็นคนที่แขนเล็กเกินไปซะมากกว่า (มีการปรับปรุงในรุ่นใหม่แล้ว)



        สำหรับการทดสอบการทำงานในตอนนี้จะมีแค่โปรแกรมที่ทาง Thalmic Labs เตรียมไว้ให้ในส่วนของ Developer เพราะว่ายังอยู่ในระหว่างการพัฒนานั่นเอง ดังนั้นก็ต้องถ่อไปโหลดจาก Thalmic Labs Developer

        ในการใช้งานครั้งแรกก็จะต้องเชื่อมต่อทั้ง Bluetooth Dongle และ Micro USB เพื่อทำการตั้งค่าให้เรียบร้อยเสียก่อน



        จากนั้นก็จะเป็นการสอนวิธีสั่งงานต่างๆ อย่างเช่น การเปิดใช้งาน Gesture การสั่งงานในรูปแบบต่างๆ




        เวลาผู้ใช้ถอดออกก็จะมีการรับรู้ได้ด้วย



        เจ้า MYO จะมี Gesture หลักๆในตอนนี้อยู่แค่ 6 แบบด้วยกัน ซึ่งทาง Thalmic Labs น่าจะทำเพิ่มเข้ามาให้เรื่อยๆ (Firmware Upgrade ทำได้ง่ายมาก)

        แบบแรกสุดมีไว้เพื่อเริ่มใช้งาน MYO ซึ่งต้องทำท่านี้ทุกครั้งเมื่อเริ่มใช้งาน MYO โดยให้หักข้อมือออกจากตัวแล้วหมุนแขนออกจากตัว จากนั้น MYO ก็จะสั่นเพื่อให้รู้ว่าเริ่มทำงานแล้ว (ถ้าไม่สั่นก็ให้ทำท่านี้ใหม่จนกว่าจะได้)



        สำหรับ 5 แบบต่อจากนี้จะเป็น Gesture ที่เอาไว้ใช้งาน

        Finger Spread : กางมือออกจนสุด



        Wave Out : กวักมือออกจากตัว ถ้าใส่แขนขวาก็ให้กวักมือไปทางขวา ถ้าใส่แขนซ้ายก็ให้กวักมือไปทางซ้าย



        Wave In : กวักมือเข้าหาตัวเอง ถ้าใส่แขนขวาก็ให้กวักมือไปทางซ้าย ถ้าใส่แขนซ้ายก็ให้กวักมือไปทางขวา



        Fist : กำมือ



        Thumb to Pinky : นิ้วโป้งแตะกับนิ้วก้อย



        จริงๆแล้วจะมี Rest ด้วย แต่ทว่าเป็นสถานะเวลาที่ไม่มี Gesture ใดๆจากมือผู้ใช้ ดังนั้นจึงไม่นับว่าเป็น Gesture

        สำหรับ Gesture ทั้ง 5 แบบนั้นจะขึ้นอยู่กับนักพัฒนาว่าประยุกต์ใช้งานยังไง และนอกจากนั้นก็จะมี 9-Axis Motion Sensor ซึ่งเป็น Sensor ตรวจจับการเคลื่อนไหวทั้งหมด 9 แกนด้วยกัน ประกอบไปด้วย Accelerometer (3 แกน) Gyroscope (3 แกน) และ Magnetometer (3 แกน)

        จึงทำให้สามารถรู้ความเร่งในแนวแกนได้ด้วย Accelerometer ในเวลาที่ผู้ใช้แกว่งแขน



        สามารถรู้ความเร่งเชิงมุมได้ด้วย Gyroscope ในเวลาที่ผู้ใช้หมุนแขน



        และสามารถรู้ทิศทางการหันของผู้ใช้ได้ด้วย Magnetometer หรือแม้กระทั่งใส่กลับทิศทางก็ตาม




        ดังนั้นจึงสามารถประยุกต์ใช้งานควบคู่กับ Gesture ได้อย่างหลากหลาย เช่น กำมือแล้วบิดซ้ายขวาเพื่อปรับระดับบางอย่าง หรือกางมือออกแล้วเอียงไปมาเพื่อควบคุมบางอย่างเป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับนักพัฒนาเลย


        สำหรับเบื้องต้นก็จะมีให้ใช้งานร่วมกับ Microsoft PowerPoint หรือ Keynote เพื่อควบคุมการเปลี่ยนหน้าของ Slide



        สามารถควบคุมการเล่นไฟล์เพลงหรือไฟล์วีดีโอบน VLC Player, iTunes แล้วก็ Netflix ได้



        สำหรับการใช้งานกับแอนดรอยด์จะสะดวกหน่อยไม่ต้องมีขั้นตอนการเชื่อมต่ออะไรมาก แต่ทว่าเครื่องที่ใช้จะต้องมี Bluetooth 4.0 เท่านั้น ก็โชคดีที่มีหลายๆเครื่องเริ่มรองรับกันบ้างแล้ว อย่าง Asus ZenFone 4 ก็ใช้ Bluetooth 4.0 เหมือนกันนะเออ

        แต่การใช้งานร่วมกับแอนดรอยด์จะยังไม่มีตัวอย่างจากทาง Thalmic Labs โดยตรงซักเท่าไร ก็จะมีแต่ของนักพัฒนาคนอื่นๆที่ทำลง Google Play อย่างเช่น เกม 2048 ที่เล่นโดยใช้ MYO



        อาจจะดูเหมือนว่ายังเอาไปใช้งานอะไรได้ไม่มากนัก แต่จงอย่าลืมว่านี่คือรุ่นทดลองสำหรับนักพัฒนาเพื่อให้นักพัฒนานำไปประยุกต์ใช้งานกับ Software ของตนเอง ดังนั้นต้องรอดูในวันหน้าที่ MYO พร้อมจำหน่าย เพราะทาง Thalmic Labs จะมี MYO Market สำหรับดาวน์โหลด Software ที่ใช้งานร่วมกับ MYO โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบน Windows, Mac OS, Android หรือ iOS และยังมีโปรเจคที่ใช้งานร่วมกับ Oculus Rift อีกด้วย



        สำหรับเจ้าของบล็อกก็ได้ลองเอาไปประยุกต์กับหุ่นยนต์อย่างง่ายๆดู ให้ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วย Gesture



        และในที่สุดความฝันของเจ้าของบล็อกก็เป็นจริงแล้ว เจ้าของบล็อกมีพลังจิตสั่งให้กล่องเคลื่อนที่ได้!!!!!!! (เป็นโปรเจคแรกที่อยากจะทำกับ MYO เลยล่ะ)


        ถึงจะดูเหมือนว่าใช้งานและควบคุมได้ไม่ยาก แต่จริงๆแล้วต้องฝึกใช้อยู่ซักพักหนึ่งถึงจะจับเคล็ดในการใช้งานได้ อย่างเช่นตำแหน่งของแขน การจับ Gesture ได้นั้น แขนจะต้องอยู่ในลักษณะ ยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อยเหมือนในตัวอย่างสอนใช้งาน การยกแขนขึ้นหรือบิดไปทางอื่นจะทำให้ Gesture คลาดเคลื่อนได้ เพราะว่ากล้ามเนื้ออยู่ในลักษณะที่ผิดจากปกติ แต่ถ้าใช้ไปซักพักก็จะชำนาญเอง (ชูแขนแบมือกำมือได้เลยล่ะ)

        และในแง่ของ Development ความยากจะอยู่ตรงที่แปลข้อมูลการทำงานของ Motion Sensor ให้ออกมาอยู่ในรูปของคำสั่งซะมากกว่า เพราะว่าในส่วนของ Gesture นั้น นักพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนนั้นได้อยู่แล้ว และทางผู้พัฒนาก็เตรียมคำสั่งให้ใช้งานได้ง่ายๆแล้ว

        แต่ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักพัฒนาที่อยากจะทำ Motion Gesture สามารถทำตามความฝันได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากเลยก็ว่าได้ แต่ในวันนี้ก็ได้มีเจ้า MYO แล้ว ที่เหลือก็อยู่แค่ว่านักพัฒนาจะสามารถมีไอเดียในการนำไปใช้งานอย่างไรให้เจ๋งนั่นเอง


        สำหรับผู้ที่หลงเข้ามาอ่านคนใดที่สนใจอยากจะสั่งซื้อ ตอนนี้มีจำหน่ายทันทีสำหรับรุ่นที่เป็น Developer Kit ที่ใหม่กว่ารุ่น Alpha และใกล้เคียงรุ่นที่จะวางจำหน่ายที่สุดแล้ว สนนที่ราคา $149 ยังไม่รวมค่าส่ง สามารถดูรายละเอียดได้ที่ MYO - Thalmic Labs



        แต่ถ้าคิดจะสั่งซื้อรุ่น Developer Kit เพื่อเอามาเล่นอย่างเดียวก็ไม่ค่อยแนะนำซักเท่าไร เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นรุ่นที่ให้นักพัฒนาเอาไปประยุกต์ใช้กับ Software ของตนเอง เพื่อให้ MYO มี Software รองรับที่หลากหลาย หรือส่ง Feedback เพื่อบอกถึงปัญหาการใช้งานหรือความคิดเห็นต่างๆกับ MYO

        ดังนั้นถ้าจะซื้อมาเล่นก็รอรุ่นที่ Release แล้วจะดีกว่า เพราะถ้าซื้อไปตอนนี้แล้วจะเอาไปเล่นอย่างเดียวไม่คิดจะพัฒนาใช้งานกับ Software ก็จะมานั่งบ่นอีกว่าทำอะไรไม่ค่อยได้


        และในตอนนี้เจ้าของ MYO ที่ให้ยืมมาเล่นก็ได้รุ่น Developer Kit มาเล่นเพิ่มอีกตัว ลองไปดูเรื่องราวกันได้ที่ Myo Developer Kit Hands on! ซึ่งเจ้าของบล็อกก็คงจะยังไม่เอามา Review ในทันที เพราะว่ามันใกล้เคียงกับรุ่น Release แล้ว ก็เลยกะจะรอรุ่น Release ที่เจ้าของบล็อกสั่งจองไว้ดีกว่า

        แล้วจะมารีวิวรุ่น Release ให้ได้อ่านกันอีกนะ (แต่เมื่อไรก็ไม่รู้เพราะผู้พัฒนาเลื่อนแล้วเลื่อนอีก)